นางสาวบุหงา เสมจิตร์

นางสาวบุหงา   เสมจิตร์
นางสาวบุหงา เสมจิตร์ เลขที่ 18 หมู่ที่ 7 ป.บัณฑิตรุ่นที่ 13

สุขสันต์วันวาเลนไทน์

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นวัตกรรมเพื่อการบริหารสถานศึกษา

นวัตกรรมเพื่อการบริหารสถานศึกษา

           การบริหารสถานศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์และยุคของการปฏิรูปการศึกษาและการกระจายอำนาจทางการศึกษาจากส่วนกลางไปสู่ระดับสถานศึกษา ส่งผลให้ผู้บริหารสถานศึกษาต้องใช้ความสามารถและอำนาจในการตัดสินใจ และต้องมีภาวะผู้นำ มีความเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการ  ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาจึงจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และมีเครื่องมือในการบริหารจัดการ  นวัตกรรม  เป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการบริหารสถานศึกษาไปสู่เป้าหมาย  การบริหารสถานศึกษาแนวใหม่จึงจำเป็นต้องนำ นวัตกรรม มาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการ
           เบื้องต้นจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของนวัตกรรม เพื่อจะได้เห็นความสำคัญและความสัมพันธ์กับการบริหารสถานศึกษาต่อไป
ความหมายของนวัตกรรม
          การที่จะรู้จักนวัตกรรมก็จะต้องเข้าใจถึงความหมายของนวัตกรรม เป็นเบื้องต้น ก่อนซึ่งมีผู้ให้ความหมายไว้หลายประการ  ดังนี้
         โธมัส  ฮิวซ์   :  นวัตกรรม เป็นการนำวิธีการใหม่ๆมาปฏิบัติหลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้นๆแล้ว โดยมีขั้นตอนตามลำดับ คือ การคิดค้น การพัฒนา และนำไปปฏิบัติจริง  ซึ่งมีความแตกต่างจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา (กีรติ  ยศยิ่งยง : 2552)
          กีรติ  ยศยิ่งยง  :  นวัตกรรม เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ คิดค้น พัฒนา สามารถนำไปปฏิบัติจริง และมีการเผยแพร่ออกสู่ชุมชน ในลักษณะเป็นของใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน  หรือของเก่าที่มีอยู่แต่เดิมแต่ได้รับการปรับปรุงเสริมแต่งพัฒนาขึ้นใหม่ให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถนำไปใช้ในเชิงพานิชย์ได้ (กีรติ  ยศยิ่งยง : 2552)
            วรภัทร์  ภู่เจริญ  :  นวัตกรรม คือ เครื่องมืออย่างหนึ่งในความเป็นนักประกอบการมืออาชีพ
                                      :   นวัตกรรม คือ การกระทำต่างๆที่นำเอาทรัพยากรต่างๆมาทำให้เกิดขีดความสามารถใหม่ๆในทางที่ดีขึ้น
                                      :  “ นวต” มาจากคำว่า ใหม่(new หรือ nuvo) เมื่อพ่วงคำว่า  “กรรม” ที่แปลว่า การกระทำ  ลงไป   จะกลายเป็น  การกระทำใหม่ๆ หรือ ผลงานใหม่ๆซึ่งถ้าแปล
นวัตกรรม = การกระทำใหม่ๆดูออกจะแคบเกินไป เพราะนวัตกรรมมีความหมายที่กว้าง และยิ่งใหญ่กว่าแค่ทำอะไรใหม่ๆ
               จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนคิดว่า  นวัตกรรม  คือ  เครื่องมือ รูปแบบ  วิธีการ ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ หรือ ปรับปรุง ต่อยอดของเดิมเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา  พัฒนาองค์กรให้บรรลุตามเป้าหมาย
               การบริหารสถานศึกษากับนวัตกรรมจึงจำเป็นจะต้องอยู่คู่กันไป  เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการบริหารจัดการ  และนวัตกรรมในการบริหารมีอยู่หลายประเภท ซึ่งมีนักวิชาการและนักนวัตกรรมได้แบ่งประเภทของนวัตกรรม ไว้ดังนี้
               สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ(อ้างใน กีรติ  ยศยิ่งยง : 2552 ) แบ่งประเภทของนวัตกรรมออกเป็น  2  ประเภท คือ
               1.นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product  Innovation) ที่ประกอบไปด้วยนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ กับผลิตภัณฑ์ที่จับต้องไม่ได้
               2.นวัตกรรมกระบวนการ (Process  Innovation) ที่ประกอบไปด้วยนวัตกรรมกระบวนการทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมกระบวนการทางองค์กร
              เชลเวย์ เบคเกอร์ (อ้างใน กีรติ  ยศยิ่งยง : 2552 )  แบ่งนวัตกรรมออกเป็น 3 ประเภท คือ
             1.นวัตกรรมทางสินค้า (Product  Innovation) ในเรื่องเกี่ยวกับการสร้างสินค้าใหม่  การปรับปรุงสินค้าที่มีอยู่ หรือ รวมสินค้าที่มีอยู่เข้าไปในสินค้าใหม่
             2. นวัตกรรมทางกระบวนการ (Process  Innovation) ในเรื่องของการเปลี่ยนวิธีการผลิตสินค้า  รวมถึงรูปแบบการบริหาร หรือเกี่ยวข้องกับส่วนประกอบที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ ที่มีผลต่อกระบวนการผลิตสินค้าใหม่หรือประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต
              3.นวัตกรรมทางการตลาด (Marketing  Innovation)  ในเรื่องที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ช่องทางการจัดจำหน่าย หรือการประเมินและการทำนายความต้องการของผู้บริโภค
             วรภัทร์   ภู่เจริญ  (การบริหารนวัตกรรมอย่างยั่งยืนและพอเพียง : 2550)  ได้แบ่งประเภทของนวัตกรรมออกเป็นดังนี้
  1. นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์
  2. นวัตกรรมด้านกระบวนการ
  3. นวัตกรรมด้านการบริการ
  4. นวัตกรรมด้านการตลาด
  5. นวัตกรรมด้านการเงิน
  6. นวัตกรรมด้านภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรม
  7. นวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ และการปกครอง
  8. นวัตกรรมด้านความศรัทธา ความคิด และความเชื่อ
        Ralph  Kate (การบริหารจัดการนวัตกรรม : 2550)  ได้แบ่งประเภทของนวัตกรรมไว้ดังนี้
           1.นวัตกรรมส่วนเพิ่มและนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงจากเดิมโดยสิ้นเชิง
           2.นวัตกรรมในกระบวนการ
           3.นวัตกรรมในบริการ
        ประเภทของนวัตกรรมที่กล่าวมา  ในทัศนของผู้เขียนคิดว่าประเภทของนวัตกรรมน่าจะแบ่งออกเป็น  5  ประเภทดังนี้
          1.นวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ  เป็นการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา หรือ เพื่อการพัฒนาองค์กรในการบริหารจัดการที่นำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย
          2.นวัตกรรมด้านการศึกษา ตามศาสตร์สาขาต่างๆ  เป็นนวัตกรรมที่ส่งเสริมการจัดการศึกษาในศาสตร์สาขาต่างๆเพื่อให้ผู้เรียน ผู้ศึกษาในระดับต่างๆมีความรู้ ความเข้าใจ เกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้องและเร็วขึ้น
          3.นวัตกรรมด้านกระบวนการ เป็นการสร้างนวัตกรรมเพื่อให้มีกระบวนการในการดำเนินการเรื่องต่างๆให้ง่ายและรวดเร็วขึ้นและประสบความสำเร็จในการดำเนินการ
         4.นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์  เป็นนวัตกรรมที่ส่งเสริมการผลิตที่สร้างสรรค์  แปลกใหม่  เหมาะกับบุคคลและยุคสมัยสะดวกในการใช้งาน
          5.นวัตกรรมด้านการตลาดและการบริการ  เป็นนวัตกรรมในการนำเสนอการขาย  การจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ  และการให้บริการที่เป็นที่พึงพอใจของผู้รับบริการ
         จากประเภทนวัตกรรมที่สรุปเป็นเบื้องต้น  ก็มีหลักการ  แนวคิด  ทฤษฎีที่เป็นหลักคิดหลักการบริหารที่ผู้บริหารสถานศึกษา  นำมาใช้ในการบริหารจัดการสถานศึกษา  ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งในการบริหารสถานศึกษาไปสู่  วิสัยทัศน์ และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งเครื่องมือ  หลักการ  แนวคิด  ทฤษฎี ที่เป็น นวัตกรรม  ในการบริหารดังกล่าว อธิเช่น
         1.การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน(School  Based  Management)  การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน  เป็นรูปแบบและแนวคิดการบริหารที่ต้องการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาจากส่วนกลาง หรือจากเขตพื้นที่การศึกษาไปยังสถานศึกษาโดยตรง  ทำให้สถานศึกษามีอำนาจและความรับผิดชอบในการบริหารตนเองในลักษณะเชิงเบ็ดเสร็จ  มีความคล่องตัวและอิสระมากขึ้นในการตัดสินใจสั่งการเกี่ยวกับการบริหารสถานศึกษาในทุกด้านที่เกี่ยวกับภารกิจทั้งในด้านวิชาการและหลักสูตร การเงินและการงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป (อุทัย  บุญประเสริฐ : 2546 อ้างถึงใน เทคนิคการบริหาร สำหรับ นักบริหารการศึกษามืออาชีพ ,วีระยุทธ  ชาตะกาญจน์ :2552)
         2.การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์(Result  Based  Management)ทิพาวดี เมฆสวรรค์( อ้างถึงใน เทคนิคการบริหาร สำหรับ นักบริหารการศึกษามืออาชีพ,วีระยุทธ  ชาตะกาญจน์ :2552)ได้ให้ความหมายของ  การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์  ว่าเป็นการบริหารโดยมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์หรือความสัมฤทธิ์ผลเป็นหลัก  ใช้ระบบการประเมินผลงานที่อาศัยตัวชี้วัดเป็นตัวสะท้อนผลงานให้ออกมาเป็นรูปธรรม  เพื่อการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้นและแสดงผลงานต่อสาธารณะ
         3.การประกันคุณภาพการศึกษา   คุณภาพการศึกษา หมายถึง คุณลักษณะของการจัดการศึกษาที่เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตร ซึ่งก่อให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจากตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานว่ามีความสอดคล้องกับที่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างดี  ทั้งนี้ต้องก่อให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้มารับบริการ อันได้แก่  นักเรียน และผู้ปกครอง อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองความต้องการของสังคมที่ต้องการผู้สำเร็จการศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ (วีระยุทธ ชาตะกาญจน์ : 2552)
        4.การจัดการความรู้  เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ที่ผสมผสานกัน โดยยากที่จะให้คำจำกัดความที่ชัดเจน แต่อาจสรุปให้เกิดความเข้าใจง่ายๆ คือ การจัดการความรู้จะเป็นกระบวนการที่มีความสลับซับซ้อน ในการที่จะนำความรู้ที่มีอยู่มาสร้าง ขยายผล แบ่งปัน จัดเก็บ และใช้ประโยชน์ (ภารดร  จินดาวงศ์ : 2549)
      จากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียง  เครื่องมือ  หลักการ  แนวคิด  ทฤษฎี ที่เป็น นวัตกรรม  ในการบริหารส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังคงมีอีกเป็นจำนวนมาก  ทั้งนี้การนำไปใช้ เป็นนวัตกรรมในการบริหารจัดการสถานศึกษา ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับปัญหา บริทบทต่างๆของสถานศึกษานั้นๆ  ซึ่ง นวัตกรรม  แนวคิด  หลักการต่างๆที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการ สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือจะต้องเหมาะสมกับสภาพปัญหา  บริบทและความพร้อมของสถานศึกษานั้นๆ
     สถานศึกษาที่จะนำนวัตกรรม มาใช้เพื่อการบริหาร ให้ได้ผลดีมีความจำเป็นที่สถานศึกษานั้นจะต้องมีลักษณะขององค์กรเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมด้วย  ซึ่งนักวิชาการได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับองค์กรแห่งนวัตกรรม ไว้ดังนี้
     กานต์  ตระกูลฮุน:2551 (อ้างถึงในองค์กรแห่งนวัตกรรม แนวคิดและกระบวนการ ,กีรติ  ยศยิ่งยง :2552)  ได้อธิบายไว้ว่า  องค์กรแห่งนวัตกรรม เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญใน การผลักดันธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน  ทั้งในด้านการคิดพัฒนาสินค้า บริการรูปแบบธุรกิจ กระบวนการทำงาน  และการสร้างบุคลากรในทุกระดับ
    กีรติ   ยศยิ่งยง : 2552  ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับ องค์กรแห่งนวัตกรรม ไว้ดังนี้ องค์กรแห่งนวัตกรรม เป็นแนวคิดการบริหารจัดการองค์กรแนวใหม่   ในการปรับเปลี่ยนคุณลักษณะองค์กร หรือปรับเปลี่ยนพฤตติกรรมองค์กร  ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรับเปลี่ยนมาก่อน เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าของบริบทโลกาภิวัตน์ที่มีความรู้และนวัตกรรมเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มคุณค่า  พัฒนา ผลิตสินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการ และความพึงพอใจของลูกค้า ความอยู่รอด และความสามารถเชิงการแข่งขันขององค์กรในตลาดการค้าโลกเสรี
     จากที่กล่าวมาข้างต้น ในทัศนของผู้เขียน คิดว่า  องค์กรแห่งนวัตกรรม  เป็นองค์กรที่มีความพร้อมของบุคคลและบริบทขององค์กร ที่ความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาการเป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศ โดยการใช้นวัตกรรมต่างๆเป็นเครื่องมือในการพัฒนา
     องค์กรจะใช้นวัตกรรมเพื่อการบริหารสถานศึกษาได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย การดำเนินการให้องค์กรพร้อมที่จะเป็น องค์กรแห่งนวัตกรรม เป็นปัจจัยที่สำคัญในการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อการบริหาร  หากองค์กรไม่มีความพร้อมในการรองรับนวัตกรรมทั้งในด้านบุคลากรและบริบทต่างๆขององค์กร ก็ไม่สามารถนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อการบริหารเพื่อนำองค์กรหรือสถานศึกษาไปสู่ความสำเร็จ
   สรุป นวัตกรรมเพื่อการบริหารสถานศึกษา  เป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการซึ่งการนำไปใช้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยและบริบทต่างๆอีกหลายประการ ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากร ทีมงานต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมในการบริหารที่นำมาใช้ สามารถปฏิบัติได้  ถ่ายทอดเป็น และองค์กรหรือสถานศึกษาต้องมีความพร้อมในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม  ในการรองรับนวัตกรรมเพื่อการบริหารสถานศึกษาต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น