นางสาวบุหงา เสมจิตร์

นางสาวบุหงา   เสมจิตร์
นางสาวบุหงา เสมจิตร์ เลขที่ 18 หมู่ที่ 7 ป.บัณฑิตรุ่นที่ 13

สุขสันต์วันวาเลนไทน์

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

องค์กรแห่งนวัตกรรม

สร้างคนสไตล์ 'มิตรผล' องค์กรแห่งนวัตกรรม

๐ กรณีศึกษาองค์กรไทย สร้างนวัตกรรมอย่างไร ? แม้ไม่ใช่ Dream Industry
      
๐ Innovation จะเกิดได้ไอเดียใหม่ๆ ยังไม่พอ ถ้าไม่มีเวทีให้ก็ไร้ความหมาย
      
๐ ทุ่มทุนสร้างคน ส่งเรียนต่อ สัมมนาต่างประเทศ เปิดเสรีความคิด ปัจจัยรักองค์กร
      
๐ คุ้มสุดๆ เมื่อผลงานที่ได้ สร้าง Value และลดต้นทุนมูลค่านับพันล้าน

      
ในการทำธุรกิจนั้นเรื่องการลงทุนด้านเทคโนโลยีพัฒนาองค์ความรู้ การทำวิจัย หรือ R&D ต่างๆเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า นำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่การที่จะทำสิ่งต่างๆ ข้างต้นได้นั้น จะไร้ประโยชน์ทันทีถ้า “คน” ของบริษัท ไม่ใช่ The Right Man ตามคำกล่าวที่ว่า Put The Right Man On The Right Job
       
core competency กับนิยามความสำเร็จ
       
           จากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของคนก่อนพัฒนาสินค้า ทำให้ "บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด" เน้นหนักในเรื่องของการค้นหา พัฒนา และรักษาบุคลากรอันเป็นกำลังสำคัญในการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ รวมถึงการสร้างเสริมศักยภาพให้บุคลากรมีความสามารถ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจในอนาคต
       
           ชุรี นาคทิพวรรณ ผู้จัดการอาวุโส สำนักงานผู้บริหาร กล่าวว่า "มิตรผล" ระบุคุณสมบัติที่พึงประสงค์ต่อองค์กร(core competency)ไว้ 6 ลักษณะด้วยกัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สร้างความเป็นผู้นำให้กับพนักงานในองค์กร คือ 1.การมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ 2.ความใส่ใจในการบริการ 3.ความสามารถในการวิเคราะห์ 4.ความสามารถในการคิดในองค์รวม 5.ความสามารถด้านการคิดริเริ่มอย่างสร้างสรรค์ และ 6.การมุ่งมั่นพัฒนาตนเองและผู้อื่น
       
           นอกจากนี้หนทางสู่ความสำเร็จของพนักงานของ "มิตรผล" จะต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 4 ประการหลัก คือ 1.can do คือต้องคิดอยู่เสมอว่าตัวเองทำได้ เพื่อไม่ตนเองท้อถอย 2.priority setting ต้องสามารถจัดลำดับความสำคัญเรื่องที่ต้องทำก่อน- หลังได้ 3.finding new way of the new thinking คือการค้นหาความคิดใหม่ๆในการทำงานอยู่เสมอ 4.challenge คือ สามารถทำสิ่งที่ท้าทายความสามารถตัวเองเสมอ
       
           สำหรับคำว่าประสบความสำเร็จในความหมายของ "ชุรี" แล้วไม่เพียงแค่ทำงานชิ้นหนึ่งเสร็จเพียงท่านั้น แต่งานที่ทำเสร็จ คือต้องมีความคิดใหม่ๆ ออกมา หรือเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างขึ้นมาได้นั้น ต้องกลับมาดูว่าสิ่งเหล่านั้นก่อให้เกิดคุณค่า(value)ในเชิงธุรกิหรือก่อให้เกิดความได้เปรียบในเชิงแข่งขันหรือไม่
       
           "มีไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้นมาไม่พอ แต่จะต้องมี value มีกลยุทธ์ ต้องสามารถสร้างอนาคตให้กับมิตรผล ทำให้เราต้องมาขับเคลื่อนทางนวัตกรรม จะต้องทำอย่างไรให้คนที่คิดอะไรใหม่ๆเบิกบานใจ ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองคิด สร้างผลงานให้คนอื่นได้รับรู้หรือยกย่อง เพราะฉะนั้นทางบริษัทได้จัดการประกวดนวัตกรรมสำหรับพนักงานขึ้นเป็นประจำทุกปีเปรียบเสมือนเวทีไว้สำหรับการประลองยุทธ์"
       
เวทีนวัตกรรม มูลค่าสร้างคน สร้างงาน
       
           เพื่อส่งเสริมให้องค์กรมีนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นแล้ว มิตรผลจึงได้จัดการประกวดนวัตกรรมของบริษัท (Mitr Phol Best Innovation Award) เป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 6 เป็นเวทีสำหรับผู้ที่มีความคิดใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นเวทีที่กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในการสร้างผลงานออกมาของพนักงานภายในองค์กร
       
           โครงการการประกวดนวัตกรรมนั้น มีเพื่อวัตถุประสงค์คือกระตุ้นให้พนักงานมีความริเริ่มสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา สามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ทำให้ไม่จำเป็นต้องนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ ในขณะที่ประสิทธิภาพในการทำงานต้องดีกว่าเดิม
       
           ซึ่งผลงานที่จะส่งเข้าประกวดได้ในแต่ละปี ไม่ใช่เพียงแค่คิดแล้วจะส่งเข้าประกวดได้เท่านั้น แต่ต้องผ่านการทดสอบด้วยการนำมาใช้จริงก่อนอย่างน้อย 6 เดือน- 1 ปี จึงจะสามารถส่งเข้าประกวดได้ โดยผลงานแต่ละชิ้นที่ผ่านการประกวดจะถูกนำมาใช้ในทำงานภายในบริษัทเท่านั้น ยังไม่เน้นสร้างออกมาในเชิงการพาณิชย์
       
           ขณะเดียวกันการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่เพียงแค่ลดต้นทุนได้เท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับ "มิตรผล" นอกเหนือจากรายได้จากการขายน้ำตาลเพียงอย่างเดียว อาทิเช่น การทำโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต คิดเป็นรายได้ปีหนึ่งมูลค่านับพันล้าน หรือการนำชานอ้อยที่เหลือจากการผลิตน้ำตาลมาผลิตเป็นไม้เคลือบเมลามีน ผลิตภัณฑ์ทดแทนไม้ ขายให้กับบริษัททำเฟอร์นิเจอร์
       
           นอกจากนั้นพนักงานของมิตรผลยังสามารถนำของเสียที่เกิดจากการผลิต แปรเปลี่ยนให้เกิดเป็นมูลค่า จึงทำให้ปัจจุบันบริษัทมีของเสียจากการผลิตเป็นศูนย์(Zero Waste) เช่น ขี้เถ้าของชานอ้อยและตะกอนจากบ่อบำบัดน้ำทิ้ง ซึ่งเดิมทีต้องใช้งบประมาณในการกำจัดของเสียในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่าปีละ 5 ล้านบาท แต่พนักงานได้นำขี้เถ้าและตะกอนมาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตอิฐบล็อกแทนการใช้ดินเหนียว ส่งผลให้อิฐบล็อกที่ได้มีน้ำหนักเบากว่าอิฐปกติ 50% ในขณะที่ต้นทุนถูกว่าการซื้ออิฐครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งในขณะนี้อยู่ในช่วงทดสอบถึงคุณภาพด้านอื่นๆเพื่อพัฒนาต่อยอดให้สามารถใช้ได้จริง
       
ทุ่มงบสร้างบุคลากร เรียนรู้รอบด้าน
       
           ทั้งนี้เบื้องหลังของการสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นเพราะ “มิตรผล” ตระหนักดีว่า "บุคลากร" คือปัจจัยสำคัญที่สร้างความแตกต่าง ความสำเร็จ หรือความล้มเหลวให้กับองค์กร จึงมุ่งเน้นในเรื่อง การค้นหา พัฒนา ส่งเสริมให้พนักงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การทำงานมีรูปแบบเป็นลักษณะของการดึงเอาศักยภาพที่ดีที่สุดของบุคลากรออกมา
       
           มุ่งเน้นในเรื่องการมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้พนักงานแสดงความคิดเห็นได้ทุระดับทุกแผนก และรักษาบุคลากรอันเป็นกำลังสำคัญในการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ รวมถึงการสร้างเสริมศักยภาพให้บุคลากรสามารถ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในอนาคต
       
           มิตรผลเองจึงมีแนวทางการพัฒนาคนด้วยการใช้วิธีการที่หลากหลาย แต่ยังคงเน้นหนักไปที่เรื่องการฝึกอบรมในหลักสูตรระยะสั้นเพื่อให้ทั่วถึงกับพนักงานทุกคน โดยมีกำหนดขั้นต่ำว่าพนักงานทุกคนจะต้องเข้าอบรม 20 ชั่วโมงต่อปี ไม่ว่าพนักงานนั้นจะอยู่ฝ่ายไร่ ฝ่ายการผลิตหรือฝ่าย back office ซึ่งหลักสูตรก็จะเหมาะสมกับลักษณะงานที่แต่ละคนทำอยู่
       
           นอกจากนั้นหากมีการสัมมนาเรื่องใดที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจและสำคัญต่อการพัฒนาคนของบริษัท มิตรผล ก็จะส่งพนักงานเข้าร่วมอยู่เสมอ โดยเฉพาะการสัมมนาระดับโลก ซึ่งทุกๆ 3 ปี บริษัทจะส่งพนักงานเข้าร่วมการประชุมน้ำตาลโลก ISSCT (International Society of Sugar Cane Technologis Congress) ซึ่งปีนี้จัดที่ประเทศแอฟริกาใต้ โดยปีหนึ่งจะส่งคนไปไม่ต่ำกว่า 10 คน
       
           ซึ่งพนักงานที่ไปประชุมในระดับโลกจะต้องกลับมาแชร์ความรู้ที่ได้รับจากงานให้กับเพื่อนๆพนักงานด้วยกันอีกหลายพันคน เพื่อกระจายความรู้ด้านนวัตกรรมให้รับรู้อย่างทั่วถึงภายในองค์กร ว่าในขณะนี้อุตสาหกรรมน้ำตาลของโลกเขาอยู่ในระดับไหน มีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นบ้าง
       
           ยิ่งไปกว่านั้น ชุรี ยังได้คิดหาวิธีในการกระตุ้นให้พนักงานมีความคิดในเชิงการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอด้วยวิธีอบรมแบบ Day to Day ด้วยการสื่อสารผ่านตัวการ์ตูนฮีโร่ที่เธอคิดขึ้นมาเอง 6 ตัว 6 คาร์แร็กเตอร์ ซึ่งฮีโร่แต่ละตัวจะเป็นตัวแทนของ core competency ในแต่ละข้อ ตัวอย่างเช่น Winnie เป็นตัวแทนของการมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ หรือ smilie ซึ่งเป็นตัวแทนของความใส่ใจในการบริการ
       
           ซึ่งวิธีการทำการ์ตูนฮีโร่ขึ้นมานั้นเกิดจากที่เธอเห็นถึงจุดอ่อนของการเทรนนิ่งในชั้นเรียนที่ส่วนใหญ่แล้วเมื่อออกมาจากห้องเรียนแล้ว ความรู้ที่ได้รับจะเหลือเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ยิ่งนานไปก็เลือนหาย แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นการ์ตูนเนื้อหาสั้นๆ ไม่เกิน 2-3 นาที พนักงานสามารถทบทวนความรู้ได้ทุกเวลาเมื่อว่างจากการทำงาน เพียงแค่คลิกเข้ามาที่คอมพิวเตอร์เท่านั้น
       
           นวัตกรรมต่างๆจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากองค์กรไม่มีการส่งเสริมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง แต่มิตรผลมีระบบที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมอย่างเต็มที่ กล่าวคือ ถ้าพนักงานคนใดต้องการทดลองสร้างนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมา บริษัทก็จะสนับสนุนห้องแล็ป สนับสนุนงบประมาณในการทดลอง บางคนหากต้องการพัฒนาในเชิงลึกอย่างจริงจังก็จะส่งไปเรียนต่อเพื่อทำวิจัยกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ในอนาคตบริษัทจะเตรียมที่จ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับพนักงานโดยตรงเพื่อให้พนักงานสามารถเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้อย่างแข็งแกร่งมาก
       
           นอกจากการส่งเสริมพนักงานด้านนวัตกรรมแล้ว มิตรผลยังส่งเสริมสร้างรายได้ให้กับแม่บ้านของพนักงาน อาทิเช่น การแบ่งพื้นที่ให้ปลูกผักเพื่อนำไปขาย การนำนวัตกรรมที่พนักงานคิดค้นมาทำเป็นธุรกิจของชุมชนเพื่อส่งเสริมให้เกิดรายได้เสริมกับครอบครัวของพนักงาน จากนโยบายต่างๆที่สนับสนุนพนักงาน รวมทั้งระบบการประเมินผลงานของพนักงานที่เป็นธรรมด้วยการประเมินจากเจ้านายหลายคน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่พนักงานหลายคนจะมีอายุการทำงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
       
           องค์กรมิตรผลจึงน่าจะเป็นตัวอย่างให้กับธุรกิจการเกษตร หรือแม้แต่ธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นๆที่จะนำแนวทางในพัฒนาศักยภาพของคนเพื่อการขับเคลื่อนองค์กร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น